คู่มือนิสิตแพทย์ ปี 6

การปฏิบัติงานนิสิตแพย์ปี 6

ภาควิชาอายุรศาสตร์ (ฉบับสถานการณ์โควิด)

ปรับปรุงล่าสุด 4 พฤษภาคม 2564

ดาวน์โหลดเอกสาร
Interactive Case

คู่มือการปฏิบัติงาน

บทนำ expand_more
การเรียนการสอนอายุรศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาและหลังปริญญาจะดีที่สุด เมื่อผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างดี โดยมีแพทย์ดูแลรับผิดชอบตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้นภาควิชาอายุรศาสตร์จึงจัดให้นิสิตแพทย์เวชปฏิบัติ (ปีที่ 6) ทำงานร่วมกับแพทย์ประจำบ้าน และอยู่ในความรับผิดชอบของอาจารย์ในภาควิชาฯ ทั้งการปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย ห้องตรวจผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉิน
วัตถุประสงค์ expand_more
ให้บรรลุถึงจุดประสงค์ความรู้ความสามารถของแพทย์ตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา
วิธีดำเนินการ expand_more
ภาควิชาฯ จัดนิสิตแพทย์หมุนเวียนระหว่างการปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย โดยยึดหลักการให้นิสิตแพทย์มีโอกาสดูแลรักษาผู้ป่วยภายในต่อเนื่องกัน เพื่อให้มีความรู้ความชำนาญ ส่วนการดูแลผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินนั้นเป็นการทำงานที่เสร็จสิ้นไปแต่ละวัน ภาควิชาฯ จะได้จัดนิสิตแพทย์หมุนเวียนไประหว่างการอยู่ประจำตึกต่าง ๆ ในภาควิชาอายุรศาสตร์แผนกผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉิน โดยกำหนดให้ล่วงหน้า โดยมีระยะเวลาการฝึกอบรม รวม 6 สัปดาห์ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของอาจารย์ทุกท่านของภาควิชาอายุรศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์
เวลาปฏิบัติงาน expand_more

ภาควิชาฯ จะแบ่งนิสิตแพทย์ ออกเป็นกลุ่มล่วงหน้าโดยมีเวลาปฏิบัติงานดังนี้

เวลาปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย
วันธรรมดาเวลาราชการ7.00-16.00 น.
นอกเวลาราชการ16.00-8.00 น.​
วันหยุดเช้า7.00-11.00 น.
อยู่เวร8.00-8.00 น.
เวลาปฏิบัติงานบนห้องตรวจผู้ป่วยนอก
ตรวจผู้ป่วยนอกทั้งหมด 2-3 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง
เวลาปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน
แบ่งเป็น 3 ผลัด ตามเวลาคือ 0.00 - 8.00 น. , 8.00 - 16.00 น., 16.00 - 24.00 น.

ให้นิสิตแพทย์มารับการปฐมนิเทศน์ก่อนขึ้นปฏิบัติงานตามวันที่ภาควิชาฯ กำหนด

การปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน

วัตถุประสงค์ expand_more

เพื่อให้นิสิตแพทย์ปีที่ 6 ปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน

  1. สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยที่มาตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉิน โดยอาศัยประวัติการตรวจร่างกายเป็นหลักโดยสามารถทำได้อย่างประสิทธิภาพในเวลาจำกัด
  2. สามารถให้การช่วยเหลือรักษาขั้นแรกได้ถูกต้องแม่นยำทันท่วงที
  3. สามารถตัดสินใจส่งผู้ป่วยกลับโดยปลอดภัย หรือรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ถูกต้องมีหลักเกณฑ์
หมายเหตุ ไม่มีวันหยุดตลอดสัปดาห์ที่มาปฏิบัติงาน
เวลาการปฏิบัติงาน expand_more

นิสิตแพทย์จะออกปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉินวันละ 8 – 9 คน แบ่งเป็นเวรดึก, เวรเช้าและเวรบ่าย ปฏิบัติงานทุกวันโดยทางห้องฉุกเฉินเป็นผู้กำหนดเวลาที่จะปฏิบัติงานในแต่ละวันให้

การปฏิบัติงานของนิสิตแพทย์ปีที่ 6 ส่วนที่อยู่ในความดูแลของภาควิชาอายุรศาสตร์ แบ่งเป็น 2 เวลาคือ

ในเวลาราชการ
  1. ภาควิชาฯ จัดให้แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 จำนวน 2 คน แพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 1 คนออกตรวจผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน และดูแลการทำงานของนิสิตแพทย์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น.
  2. เวลา 7.30 – 9.00 น. อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ประจำห้องฉุกเฉินจะออกสอนนิสิตแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน
นอกเวลาราชการ
  1. ภาควิชาฯ จัดแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1,2 และ 3 อยู่เวรที่ห้องฉุกเฉินโดยจัดดังนี้แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1, 2 ทำหน้าที่ดูแลนิสิตแพทย์ตรวจรักษาผู้ป่วยเวลา 16.00 – 24.00 น.
  2. แพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 ช่วยสอนนิสิตแพทย์ และดูแลการทำงานแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 และ 2
  3. แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลนิสิตแพทย์ตรวจรักษาผู้ป่วยเวลา 0.00 – 08.00 น. โดยมีแพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 ประจำห้องฉุกเฉิน ให้คำปรึกษา

การปฏิบัติงานที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก

วัตถุประสงค์ expand_more
เพื่อให้นิสิตฯ มีประสบการณ์ในการตรวจ วิเคราะห์ วินิจฉัย และแก้ปัญหาของผู้ป่วยนอกอายุรศาสตร์ และสามารถตัดสินใจ ให้การรักษาส่งตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติม ส่งปรึกษาคลินิกโรคเฉพาะการ หรือรับไว้ให้การรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมในเวลาที่จำกัด
การดำเนินการ expand_more
  1. ให้นิสิตฯ ออกปฏิบัติงานให้ห้องตรวจผู้ป่วยนอกอายุรศาสตร์ทั่วไป ทั้งหมด 2 ครั้ง และ อายุรศาสตร์เฉพาะทางอีก 1-2 ครั้ง ตามตารางที่กำหนดไว้ รวมกันได้อย่างน้อย 2-3 ครั้ง
  2. ให้ตรวจผู้ป่วยนอกได้อย่างน้อย ครั้งละ 2-3 รายต่อคนในการออกตรวจแต่ละครั้งโดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 1-2 ราย ผู้ป่วยติดตามการรักษา 1-2 ราย
  3. เมื่อตรวจผู้ป่วยแต่ละคนเสร็จแล้ว ให้เขียนผลการตรวจ ความเห็น และการรักษาที่จะให้ลงในแฟ้มประวัติผู้ป่วย แล้วนำเสนออาจารย์ผู้สอน เพื่อวิจารณ์และแก้ไข
  4. กรอกชื่อผู้ตรวจ และปัญหาของผู้ป่วย ลงในแบบฟอร์มที่แจกให้แล้วนำส่งอาจารย์ผู้สอน ทุกครั้งเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนทำการประเมินการปฏิบัติงานของนิสิต

สถานที่ ห้องตรวจผู้ป่วยนอกอายุรศาสตร์ ตึก ภปร. ชั้น 1, ชั้น 2 และ ชั้น 3

อาจารย์ผู้สอน จะมีอาจารย์ 1 ท่านของแต่ละชั่วโมงแต่ละวัน ทำหน้าที่ดูแล และควบคุมการปฏิบัติงานของนิสิตในแต่ละคลินิก

การปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย

บทนำ expand_more
นิสิตแพทย์ปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยและตรวจผู้ป่วยนอก 5 สัปดาห์ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ประจำบ้าน Ward staff และอาจารย์ทุกท่านที่อยู่ภาควิชาอายุรศาสตร์ โดยแบ่งนิสิตแพทย์ปีที่ 6 ประจำอยู่กับแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ตามจำนวนของนิสิตแพทย์ปีที่ 6 ในตึกนั้น
เวลาปฏิบัติงาน expand_more
วันทำการ
เวลาราชการ 7.00 - 16.00 น.
นอกเวลาราชการ (อยู่เวร)* 16.00 – 8.00 น.

*กรณีที่อยู่เวร 2 คน ให้ 1 คนลงเวรตอน 0.00 น.

วันหยุดราชการ
เช้า 7.00 - 11.00 น.
นอกเวลาราชการ (อยู่เวร)* 8.00 – 8.00 น. วันรุ่งขึ้น

*กรณีที่อยู่เวร 2 คน ให้ 1 คนลงเวรตอน 18.00 น.

การปฏิบัติงานในเวลาราชการ expand_more

ปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์ประจำบ้าน 1, 2 และ 3 และร่วมกิจกรรมดังตาราง

Unit round
อังคาร 11.00-12.00 น. อย. 2, วส.4-5, สล.3
พฤหัส 11.00-12.00 น. วชิราวุธล่าง, หลิ่มซีลั่น
การปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ expand_more

นิสิตแพทย์ที่อยู่เวรจะต้องรู้จักผู้ป่วยที่มีอาการหนักและผู้ป่วยที่มีปัญหาจะต้องรับส่งเวรให้เข้าใจทั้งด้วยวาจา และบันทึกไว้ในหน้าประวัติผู้ป่วย

แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ที่ประจำอยู่ในตึกควรจะจัดการเปิดเตียงให้ว่างเพื่อความสะดวกในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินนอกเวลาราชการ

เมื่อผู้ป่วยเข้าตึกแล้วการดูแลผู้ป่วยควรจะจัดให้เป็นลำดับดังนี้ ทำทั้งในและนอกเวลาราชการ

  1. ให้นิสิตแพทย์ซักประวัติ, ตรวจร่างกาย, สรุปความเห็นให้ข้อเสนอต่อแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 แต่ในกรณีฉุกเฉิน ผู้ป่วยอาการมากอยู่ในภาวะอันตรายให้แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1,2,3 ดูคนไข้ด้วยกัน (และรายงานอาจารย์ถ้ามีปัญหา)
  2. แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ให้ข้อเสนอแนะพร้อมทั้งตรวจบันทึกรายงานของนิสิตแพทย์ให้เรียบร้อย ควรให้นิสิตแพทย์เป็นผู้ส่งการรักษาโดยความเห็นชอบของแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1,2 หรือ 3 เว้นกรณีฉุกเฉิน
  3. แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 และ 3 รับทราบให้คำแนะนำตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว
  4. แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ต้องลงชื่อกำกับการรักษาของนิสิตแพทย์ในใบสั่งการรักษาด้วยตนเองทุกครั้ง
  5. การติดต่อสัมพันธ์กับผู้ป่วยและญาติควรบอกการวินิจฉัย การรักษาที่ให้อยู่ การพยากรณ์โรคตามสมควร ภายใต้การแนะนำของแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 และ 3 เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง

เวลา 7.30 – 8.00 นิสิตแพทย์ปีที่ 6 อภิปรายปัญหาเกี่ยวกับผู้ป่วยที่รับไว้ในวันที่อยู่เวรกับอาจารย์ประจำตึกที่ทางภาควิชาฯ จัดไว้ (Table round นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และใส่หน้ากากอนามัย ตลอดเวลา)

การเขียนรายงาน expand_more

ต้องเขียนประวัติ การตรวจร่างกาย และแผนการรักษาคนไข้รับใหม่ ทุกคนโดยเร็วที่สุด รวมถึงรับผู้ป่วยเก่าที่อยู่ในความดูแลด้วย

การเขียนประวัติ การสั่งการรักษา หรือ การดูข้อมูลผู้ป่วย ใน EMR ให้ใช้รหัสของตนเองในการ login และ logout ทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน

Progress Note ควรเขียนในคนไข้ทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาล ตามความเหมาะสมและตามหลักของ P.O.M.R. (S.O.A.P.) ควรกระทำในขณะที่ดูคนไข้เป็นนิสัย

บางครั้งนิสิตแพทย์จำเป็นต้องทำ Routine lab เองในรายที่ต้องการผลด่วนและเพื่อการรักษาในขั้นต้น

คนไข้ใหม่ทุกรายต้องจ่ายนิสิตแพทย์ปีที่ 6 ประจำตึก

การเขียนใบ request ทาง x-ray หรือ specialty lab ต่าง ๆ ขอให้เขียน clinical data ให้ชัดเจน เช่น

  • การตรวจ IVP ขอให้เขียนผล BUN, Creatinine และน้ำหนักตัวของคนไข้ลงไปด้วย

การเจาะเลือดและการฉีดยาเข้าหลอดเลือดหรือ I.V. Drip, การให้ blood component เป็น หน้าที่ของนิสิตแพทย์และแพทย์โดยตรงไม่ใช่หน้าที่ของพยาบาล

การสั่งยา expand_more
  1. ควรคิดถึงประโยชน์ ความเหมาะสม และยาไม่แพงเกินไป
  2. รู้ Action Dose ผลดีและผลเสียหรือผลข้างเคียงรวมทั้งระยะเวลาที่จะใช้
  3. การเปลี่ยนแปลงการรักษาควรมีเหตุชี้แจงใน Progress note
  4. ควรหลีกเลี่ยงการสั่งยาทางโทรศัพท์
ผู้ป่วยเสียชีวิต expand_more

พยายามติดต่อญาติขอตรวจศพได้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและการรักษาต่อไป

การเขียนใบขอตรวจศพ

เขียนประวัติย่อการตรวจร่างกาย ผลการตรวจในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการดำเนินของโรคและการวินิจฉัยแล้ว ให้หัวหน้าแผนกหรือหัวหน้าหน่วยเซ็นอนุมัติตรวจศพ สำหรับในกรณีที่ญาติไม่อนุญาตแต่เป็นผู้ป่วยที่ควรให้ความสนใจ และจำเป็นต้องการตรวจศพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเท่านั้นที่มีสิทธิ์เซ็นอนุญาตตรวจศพได้
การปรึกษาระหว่างแผนก expand_more
ในเวลาราชการให้นิสิตแพทย์ปีที่ 6 เขียนลงในใบปรึกษาแล้วให้อาจารย์ Ward staff เซ็นชื่อ ถ้านอกเวลาราชการ แพทย์ประจำบ้านมีสิทธิ์เซ็นแทนได้
Ward Staff expand_more
มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของแพทย์ประจำบ้านและนิสิตแพทย์ รวมทั้งให้คำปรึกษาในทุก ๆ อย่าง
การทำหัตถการ expand_more

สนใจและหมั่นฝึกทำหัตถการทั้งใน และนอกเวลาราชการ หัตถการที่สามารถทำได้เอง และหัตถการที่ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ประจำบ้าน ดังแสดงในตาราง

หัตถการที่ทำเองได้ หัตถการที่ต้องอยู่ภายในการควบคุมของแพทย์ประจำบ้าน
Venipuncture Endotracheal tube intubation
Capillary puncture Cardiopulmonary resuscitation
Arterial puncture Pleural tapping
Nasogastric intubation Knee joint aspiration
Urethral catheterization Injection: intramuscular, intradermal, subcutaneous
Lumbar puncture
Abdominal tapping
Aerosol bronchodilator therapy
Wound dressing
การศึกษา expand_more

จุดมุ่งหมายของภาควิชาฯ คือการศึกษาโดยการให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างดีสม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมง

การเข้าประชุมทางวิชาการ ของภาควิชาฯ มีการประชุมวิชาการแต่ละสัปดาห์ตามตาราง (เหมือนแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1)

  1. ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ได้รับอย่างถ่องแท้โดยการรวมกลุ่มอภิปรายกับแพทย์ประจำบ้านอาจารย์ ward staff แพทย์ประจำบ้านประจำหน่วยและอาจารย์ประจำหน่วย หรือศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำหรับตำรารวมทั้งวารสารทางการแพทย์
  2. ศึกษาและหัดทำหัตถการตามที่กำหนดไว้
  3. การทำ Case discussion ให้นิสิตไปติดต่อกับอาจารย์ผู้สอนตามตารางสอน จุดประสงค์ของการทำ เพื่อให้นิสิตฝึกการใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลและใช้มูลฐานการวิเคราะห์ทางเวชศาสตร์ โดยเน้นข้อมูลจาก case ผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่เน้นเนื้อหาของโรคที่ผู้ป่วยเป็น และให้ทำการ present โดยใช้ teleconference เช่น Zoom หรือ Webex

การประเมินผล

รายวิชา 3000685 expand_more

รายวิชาทักษะอายุรศาสตร์ 2 (Skills in Medicine II) 4(0-8-4) หน่วยกิตจะรอประเมินผลภายหลังจากกลับมาขึ้นอายุรศาสตร์รอบที่ 2 ปลายปี

การประเมินความรู้และทักษะทางปัญญาขั้นสูง (assessment of knowledge and higher order thinking)
1. การสอบข้อเขียน (paper-based exam) ด้วยข้อสอบ MEQs 35%
การประเมินสมรรถนะทางคลินิก (clinical competency assessment)
2. OSCE 45%
3. Long case examination 10%
การประเมินพฤติกรรมและผลงาน (performance assessment and assessment of student’s assignment)
4. Conference/topic discussion 5%
5. การแก้ปัญหา case simulation online 5%
รายวิชา 3000686 expand_more

รายวิชาเวชปฏิบัติอายุรศาสตร์ 2 (Clinical Performance in Medicine II) 4(0-12-4) หน่วยกิต

การประเมินพฤติกรรม
1. พฤติกรรมในการเรียนข้างเตียง (bedside teaching) 10%
2. ความสามารถในการบริบาลผู้ป่วยนอก 10%
3. ความสามารถและพฤติกรรมในการบริบาลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยอายุรกรรม 40%
4. พฤติกรรมในการปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์ประจำบ้าน 35%
5. peer assessment 5%
© ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1873 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โทร 02-256-4000 ต่อ 61803-4
www.cumedicine.org