หน้าหลัก

เกี่ยวกับเรา

บุคลากร

การเรียนการสอน

งานวิจัย

ข่าวและกิจกรรม

สำหรับประชาชน

สำหรับเจ้าหน้าที่

Language

Social Media

User Account

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. ด้านการเรียนการสอน

ภาควิชาอายุรศาสตร์ จัดให้มีรองหัวหน้าภาควิชาฯ ฝ่ายวิชาการ และประธานการศึกษาระดับปริญญา ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการเรียนการสอนในระดับปริญญาบัณฑิต และมีประธานการศึกษาระดับหลังปริญญา ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบดูแลการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน) และประธานบัณฑิตศึกษา ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท - เอก (หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด) ซึ่งการเรียนการสอนในทุกๆ ระดับ ประกอบด้วยหลักสูตร อาจารย์ กระบวนการเรียนการสอน นิสิต การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ปัจจัยสนับสนุนการเรียนการสอน  เพื่อส่งผลให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

1.1 หลักสูตร

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีหน้าที่รับผิดชอบการเรียนการสอน 9 รายวิชา ในระดับปริญญาบัณฑิต หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และ 2 รายวิชาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา 7 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก 1 หลักสูตร หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก 4 หลักสูตร หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์ 1 หลักสูตร  และหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์ 1 หลักสูตร โดยมีคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ทำหน้าที่การบริหาร ติดตาม พัฒนา และวางแนวทางการประเมินหลักสูตร เพื่อให้การพัฒนามีความสอดคล้องกับความต้องการด้านวิชาการและทางวิชาชีพของประเทศ

1.2 อาจารย์

ภาควิชาอายุรศาสตร์ กำหนดให้มีกระบวนการประกันคุณภาพอาจารย์ตามระบบของภาควิชา คณะ และมหาวิทยาลัย โดยมีระบบการคัดเลือก การสรรหาอาจารย์ที่มีคุณสมบัติและคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และมีคุณธรรมจริยธรรมสอดคล้องกับความต้องการและภารกิจของภาควิชา มีระบบการติดตามและประเมินการปฏิบัติงานของอาจารย์ตามภารกิจ ส่งเสริมให้อาจารย์เข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา ในหลักสูตรต่างๆ ที่จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ หรือหน่วยงานอื่นในระดับประเทศ เช่น การประชุมวิชาการ การอบรมแพทยศาสตรศึกษา การสัมมนาระเบียบวิธีวิจัย การอบรมหลักสูตรผู้บริหาร เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนให้อาจารย์ไปเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติม และ/หรือ เข้าร่วมการสัมมนา การประชุมวิชาการ และร่วมทำงานวิจัย ในระดับนานาชาติ เพื่อการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาชีพและสร้างเครือข่ายในระดับชาติและนานาชาติ ที่จะทำให้การปฏิบัติงานของอาจารย์มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งมีการธำรงรักษาอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ และมีคุณธรรม จริยธรรม

เนื่องจากปริมาณอาจารย์ทั้งที่ทำหน้าที่ในการสอนและกำกับดูแลหลักสูตรต่าง ๆ ของภาควิชามีจำนวนไม่เพียงพอ และไม่สามารถขอเพิ่มจากทางมหาวิทยาลัย ทางภาควิชามีแนวทางหาคณาจารย์เพิ่มเติม จากภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , อาจารย์พิเศษ ที่สนับสนุนด้วยเงินทุนของโครงการวิจัยต่างๆ ของแต่ละสาขาวิชา

1.3 กระบวนการเรียนการสอน

ภาควิชาอายุรศาสตร์  มีนโยบายให้มีประมวลรายวิชาครบทุกรายวิชา ตามที่คณะแพทยศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนด มีแผนการสอนทุกรายวิชาเพื่อสนับสนุนให้คณาจารย์มีการเตรียมการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ภาควิชา สนับสนุนให้มีการผลิตสื่อการสอนในทุกรูปแบบ และการใช้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน จัดให้มีการประเมินการเรียนการสอนของอาจารย์โดยนิสิต และนำผลการประเมินมาปรับปรุง/แก้ไข อาจารย์ทุกคนต้องรับการประเมินการสอนอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใน 2 ปี และทุกรายวิชาที่เปิดสอนในแต่ละภาคการศึกษาของภาควิชาอายุรศาสตร์ จะต้องมีการประเมิน โดยใช้แบบฟอร์มที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนด

นอกจากนี้ ทางภาควิชายังได้จัดกิจการเสริมพิเศษ โดยให้คณาจารย์อาวุโสในภาควิชาฯ ทำการบรรยาย และสอนแสดง เพื่อเป็นแบบอย่างในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสลับซับซ้อนและยากแก่การวินิจฉัย ( Clinico – pathological conference ) และเชิญคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยอื่น และองค์กรอื่น มาบรรยายเพื่อให้นิสิตมีแนวคิดที่กว่างขวาง และรู้จักคณาจารย์ในสถาบันอื่น ๆ เป็นประจำทุกเดือน

1.4 นิสิตและบัณฑิต

ภาควิชาอายุรศาสตร์ กำหนดให้มีการประกันคุณภาพสำหรับนิสิตและบัณฑิต ตามดัชนีชี้วัดคุณภาพ มีระบบติดตามผลการศึกษาและประเมินคุณภาพของบัณฑิต มีกิจกรรมหลากหลายเพื่อเสริมความรู้ ทักษะ การใช้ชีวิตในสังคม มุ่งเน้นให้นิสิตมีความใฝ่รู้ และมีการศึกษาด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

1.5 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

ภาควิชาอายุรศาสตร์ กำหนดแนวทางในการประเมินผลในแต่ละหลักสูตร กำหนดให้แสดงรายละเอียดไว้ในประมวลรายวิชา และแจ้งให้นิสิตทราบ มีผู้ดูแลการจัดการเรียนการสอน และประเมินผลประจำรายวิชา รวบรวมและพิจารณาข้อสอบ จัดสอบภาคทฤษฎีและ/หรือภาคปฏิบัติ มีประชุมพิจารณาคัดเลือกข้อสอบ ดำเนินและพิจารณาผลการสอบ วิเคราะห์ข้อสอบ และจัดทำคลังข้อสอบ มีการวัดและประเมินผลในทุกรายวิชาทั้ง Formative และ/หรือ Summative และจำแนกสภาพ เมื่อสิ้นภาคการศึกษา ตัดสินผลโดยระบบ 8 เกรด คือ A, B+, B, C+, C, D+, D และ F ตามระบบตัดเกรดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.6 ปัจจัยสนับสนุนการเรียนการสอน

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีการดำเนินการจัดให้มีห้องเรียน และห้องประชุมที่มีขนาดต่างๆ กัน อาคารสถานที่ ตามเกณฑ์ที่กำหนด จัดให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือในห้องปฏิบัติการตามเกณฑ์ที่กำหนด มีโสตทัศนูปกรณ์เพื่อการเรียนการสอน มีระบบสนับสนุนการจัดทำตำราและสื่อการสอน จัดให้มีความหลากหลายของผู้ป่วยตามเกณฑ์ของแพทยสภา จัดให้มีห้องสมุดส่วนกลางภาควิชา, ห้องสมุดสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า และมีเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงเชื่อมต่อระบบ internet ที่ใช้สืบค้นข้อมูลทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้ด้วยตนเองตลอดเวลา ในห้องพักนิสิตแพทย์ ณ หอผู้ป่วย ภาควิชาอายุรศาสตร์ จัดให้มีทุน / รางวัลการศึกษา

สำหรับนิสิตแพทย์ที่ได้คะแนนสูงสุด โดยได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์อาวุโสของภาควิชาอายุรศาสตร์ เป็นผู้ให้เงินทุนฝากไว้ ณ คณะแพทยศาสตร์ เพื่อเบิกจ่ายในนิสิตแพทย์ผู้ได้รับทุนในแต่ละปีการศึกษา จำนวน 3 ทุน ได้แก่

  • รางวัลจากดอกผลทุน “นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์” สำหรับนิสิตชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่สอบได้คะแนนสูดสุดในรายวิชาอายุรศาสตร์
  • รางวัลจากดอกผลทุน “รองศาสตราจารย์นายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา” สำหรับนิสิตชั้นปีที่ 6 ที่สอบได้คะแนนสูดสุดในรายวิชาอายุรศาสตร์
  • รางวัลจากดอกผลทุน “ศ.นพ.ศักดิ์ชัย ลิ้มทองกุล” สำหรับนิสิตที่สอบได้คะแนนสูดสุดใน Emergency Medicine

สำหรับนิสิตหลักสูตรปริญญาโท-เอก จาก “เงินนอกงบประมาณแผ่นดิน-PPBS” เงินรายได้ค่าลงทะเบียนเรียน ของหลักสูตรในแต่ละปีการศึกษา เพื่อสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ของนิสิต ดังนี้

  • ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ จำนวนทุนละ 20,000 บาท จ่ายให้ 10,000 บาท เมื่อโครงร่างวิทยานิพนธ์ผ่านการพิจารณา และอีก 10,000 บาท เมื่อสอบและส่งวิทยานิพนธ์ ฉบับสมบูรณ์
  • รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
    • ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ส่ง reprint มาขอรับเงินบทความละ 15,000 บาท
    • การนำเสนอ (poster presentation, oral presentation) ผลงานในที่ประชุมวิชาการในระดับประเทศ ได้รับรางวัลเรื่องละ 15,000 บาท ในระดับต่างประเทศ ได้รับรางวัลเรื่องละ 30,000 บาท
  • รางวัลศาสตราภิชาญ นายแพทย์พินิจ กุลวณิชย์ สำหรับ
    • แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ชั้นปีที่ 1, 2, 3
    • แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ต่อยอด ชั้นปีที่ 1 , 2

2. ด้านการวิจัย

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีรองหัวหน้าภาควิชาฯ ฝ่ายวิจัย รับผิดชอบกำกับดูแลงานวิจัยของภาควิชา ได้แก่ การเผยแพร่ผลงานวิจัย จัดให้มีทีมงานไว้ให้บริการกับอาจารย์ผู้สนใจ เช่น คำแนะนำปรึกษาด้านสถิติ แนะนำแหล่งทุน การเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอทุนสนับสนุน / เพื่อพิจารณาจริยธรรมการวิจัย และการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย รวมถึงให้ความช่วยเหลือในการค้นคว้าหาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำโครงการวิจัยตามที่ต้องการ และรวมรวมข้อมูลผู้สนใจทำวิจัยในเรื่องต่างๆ เพื่อประสานงานให้เกิดทีมงานเครือข่ายวิจัยร่วมกัน เช่น ต่างสาขาวิชา ต่างภาควิชา ต่างหน่วยงาน ต่างสถาบันทั้งในระดับประเทศ และระดับต่างประเทศ เป็นต้น ภาควิชาอายุรศาสตร์ จัดให้มีหน่วยงานสนับสนุน คือ “สาขาวิชาระบาดวิทยาคลินิก (Clinical Epidemiology Division)” เพื่อจัดการเรียนการสอน การให้คำปรึกษา แก่นิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด และอาจารย์ เพื่อให้การทำงานวิจัย และการเรียนการสอนด้านการวิจัยมีเนื้อหาที่ครบถ้วน ได้คุณภาพมาตรฐานระดับสากล

ภาควิชาอายุรศาสตร์ สนับสนุนสาขาวิชาต่างๆ ตามศักยภาพ ความพร้อม และความสนใจ ในการจัดตั้งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Center of Excellence : CE)  และหน่วยปฏิบัติการวิจัย (Research Unit : RU) เพื่อตอบสนองนโยบายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และพันธกิจในการบุกเบิกองค์ความรู้ และบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จึงมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาเครือข่ายวิจัย เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชน และเป็นแหล่งอ้างอิงของวงวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ปัจจุบันมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยในภาควิชาแล้ว 3 Unit ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีแผนงานสนับสนุนให้มี “โครงการจัดตั้งเป็นศูนย์แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง” อย่างต่อเนื่องตามศักยภาพของสาขาวิชานั้นๆ เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการและการวิจัยของหน่วยงาน

3. ด้านบริการวิชาการ

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีวัตถุประสงค์และแผนงานเกี่ยวกับการบริการวิชาการแก่สังคมตามแผนพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้บริการทางการแพทย์ และทางวิชาการแก่สังคม ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพรวมทั้งการให้คำปรึกษา การฝึกอบรม การจัดสัมมนา การจัดประชุมวิชาการ เพื่อพัฒนาวิชาการแพทยศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ และเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในระดับประเทศ โดยการจัดโครงการอบรมอายุรศาสตร์ระยะสั้น การจัดประชุมวิชาการ / การจัดอบรมระยะสั้นของสาขาวิชา สนับสนุนวิทยากรจากภาควิชา ให้ภาควิชา ,คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัย ราชวิทยาลัย และองค์ต่าง ๆ ในการบรรยายทางวิชาการ นอกจาจนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทางวิชาการแพทย์ด้านอายุรกรรมที่ถูกต้อง โดยภาควิชา เป็นเจ้าของและผู้ผลิตวารสาร ชื่อ “วารสารจุฬาอายุรศาสตร์” จ่ายแจกไปยัง แพทย์ที่เป็นศิษย์เก่า และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้า ความรู้ใหม่ทางอายุรแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชาติ

นอกจากนี้ ผลงานได้จากการค้นคว้า ทำวิจัย โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Center of Excellence : CE)  และหน่วยปฏิบัติการวิจัย (Research Unit : RU) ของภาควิชาอายุรศาสตร์ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ มีบทบาทรับใช้สังคมในระดับชาติ โดยเป็นผู้ริเริ่มในการบุกเบิกให้เกิดการค้นคว้าศึกษาต่อเนื่องในเรื่องนั้น ๆ การให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่คลุมเครือ ตามที่ผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาแล้วพบคำตอบที่กระจ่างชัด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา-แนะนำ และให้บริการทางวิชาการแก่หน่วยงานอื่นๆ

4. ด้านบริการและสนับสนุน

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีหน่วยงานสนับสนุนในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 20 สาขาวิชา และ 17 หน่วยการรักษา โดยมี หน่วยธุรการภาควิชาเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการภารกิจของผู้บริหาร เกี่ยวกับด้านการบริหาร งานวิชาการ งานวิจัย งานบริการทางวิชาการแก่สังคม งานบริการทางการแพทย์ รวมถึงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภารกิจของคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ภาควิชาอายุรศาสตร์ ให้การสนับสนุน สาขาวิชาที่มีความพร้อมให้เป็นผู้บุกเบิก และพัฒนาองค์ความรู้ในแนวลึกทางวิชาชีพในระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยเฉพาะงานบริการในระดับตติยภูมิ (tertiary care) เพื่อเสริมสร้างให้สถาบันเป็นผู้ชี้นำทางวิชาการของอายรุแพทย์ ทำให้เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาชีพ ที่มีการจัดตั้งขึ้นแล้ว เช่น ศูนย์โรคสมองอักเสบ ศูนย์โรคลมชัก ศูนย์โรคโรคหลอดเลือดสมอง และศูนย์โรคพาร์กินสัน เป็นต้น

มิติกระบวนการสนับสนุนของหน่วยงาน

1. การบริหารจัดการหน่วยงาน

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีการบริหารจัดการหน่วยงานโดย “คณะกรรมการบริหาร” มีหัวหน้าภาควิชา รองหัวหน้าภาควิชา 5 ท่าน และอาจารย์ในภาควิชา รวมเป็น 13 ท่าน ทำหน้าที่เป็น “คณะกรรมการประจำภาควิชาอายุรศาสตร์” โดยมีหัวหน้าภาควิชาเป็นประธาน รับผิดชอบในการกำกับดูแล กำหนดนโยบาย ตั้งเป้าหมาย วางแผน กำหนดทิศทางและติดตามการดำเนินงาน ในภาพรวมเพื่อให้การอำนวยงานด้านการบริหารกิจกรรมต่างๆ ของภาควิชา เป็นไปอย่างสอดคล้องและตรงตามพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหน่วยงานภายในภาควิชาอายรุศาสตร์ ประกอบด้วย 20 สาขาวิชา มีหัวหน้าสาขาวิชา 20 ท่าน ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมด้านวิชาการ (การเรียนการสอน, การวิจัย, การบริการวิชาการ) ให้เป็นไปตามแผนงาน นโยบายของหน่วยงาน และหน่วยการรักษา 17 หน่วยการรักษา มีหัวหน้าหน่วยการรักษา 17 ท่าน ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมด้านการบริการรักษาพยาบาล และการฝึกภาคปฏิบัติ ณ หอผู้ป่วยของนิสตแพทย์, แพทย์ประจำบ้าน, แพทย์ประจำบ้านต่อยอด โดยมีสำนักงานธุรการภาควิชาอายุรศาสตร์ เป็นหน่วยงานสนับสนุนการบริหารและวิชาการของภาควิชา

2. การบริหารข้อมูล สารสนเทศและความรู้

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีการบริหารข้อมูล สารสนเทศและความรู้ โดยนำข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ติดประกาศเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่บุคลากรภายในหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ และมีการผลิตจดหมายข่าว (NEWS letter) เพื่อเผยแพร่ข่าวสารภายในหน่วยงานด้วย มีการจัดทำ website ของภาควิชา ซึ่งมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจัดให้มีระบบ intranet  สำหรับการสื่อสารภายใน เพื่อให้รับรู้ข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ที่สำคัญและต้องการให้บุคลากรภายในภาควิชาทราบเพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง

3. การบริหารทรัพย์สิน (พื้นที่/อาคาร) และกายภาพ (สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย)

ภาควิชาอายุรศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายการพยาบาล (อายุรกรรม) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พัฒนา ปรับปรุง พื้นที่ใช้สอยของอาคารหอผู้ป่วยในอายรุกรรม ให้มีภูมิทัศน์ที่เหมาะสมและเป็นไปตามข้อกำหนดของสถานพยาบาล และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมภายในบริเวณต่างๆ ได้แก่ พื้นที่สำนักงาน ห้องเรียน ห้องพัก และหอผู้ป่วยอายุรกรรม ซึ่งมีทั้งหมด 20 หอผู้ป่วย เช่น ตึกอายุรศาสตร์ ตึกสุกรี-สุภา โพธิรัตนังกูร ตึกวชิราวุธ ตึกหลิ่ม-ซีลั่น ตึกประสิทธิ์-ตุ๊ พร้อมพันธุ์ ตึกกสิกรไทย ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร ตึกจิรประวัติ ตึกพานิชภักดี เป็นต้น โดยจัดให้มีสวนหย่อมไว้เพื่อการพักผ่อนภายในอาคารต่างๆ บริเวณด้านหน้าอาคาร และจัดให้มีพื้นที่สีเขียวบริเวณโดยรอบอาคารหอผู้ป่วย จัดให้มีไม้ดอก ไม้ประดับ อย่างสวยงาม

สำหรับในการการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้จัดหาเงินสำหรับดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อม (รับ) อัคคีภัย เพื่อให้บุคลากร ทุกระดับของคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ปฏิบัติงานในภาควิชา ได้เข้ารับการฝึกซ้อม (รับ) อัคคีภัย และเพิ่มพูนความรู้ทักษะเกี่ยวกับการเฝ้าระวังอัคคีภัย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

นอกจากปัญหาเรื่องอัคคีภัยแล้ว ทางภาควิชายังได้ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยอื่น ตามระบบประกันคุณภาพของโรงพยาบาล

4. การบริหารทรัพยากรบุคคล

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยแบ่งส่วนการบริหารเป็น สำนักงานธุรการภาควิชา และสาขาวิชาต่างๆ มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานประกอบด้วย 2 สังกัดหลัก คือ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ ได้แก่ สายวิชาการ (สาย ก.) สายสนับสนุน (สาย ข. / ค.) และลูกจ้าง-นักการภารโรง เป็นบุคลากรที่อยู่ในสองระบบ คือข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย  และสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ สายวิชาการ (แพทย์) สายสนับสนุน (นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ธุรการ) ลูกจ้าง-นักการภารโรง เป็นบุคลากรที่อยู่ในสองระบบ คือ เจ้าหน้าที่ประจำ และเจ้าหน้าที่ชั่วคราว นอกจากนี้ ในภาควิชาอายุรศาสตร์ ยังมีผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมิได้อยู่ในทั้งสองสังกัด (คณะแพทยศาสตร์ และ สภากาชาดไทย) แต่เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้หน่วยงานมีความคล่องตัวและมีผลงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอ คือ ผู้ช่วยวิจัยตามโครงการต่างๆ ของสาขาวิชา ได้แก่ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ที่ได้รับค่าตอบแทนจากเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งภายนอก

การบริหารค่าตอบแทนมีสองส่วน เงินที่ได้จากรัฐ (งบประมาณแผ่นดิน) และเงินนอกงบประมาณ นอกจากนี้ บุคลากร ยังมีรายได้อื่นๆ ที่หน่วยงานได้จัดหาค่าตอบแทนเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างพอเพียง เช่น การเปิดคลินิกพิเศษและบริการพิเศษนอกเวลาราชการ การจัดโครงการอบรบอายุรศาสตร์ระยะสั้น และการประชุม/อบรมของสาขาวิชา เป็นต้น

ความก้าวหน้าในอาชีพ สำหรับ สาย ก. และแพทย์ ผู้ทำการสอน วิจัย มีผลงานสามารถขอตำแหน่งทางวิชาการ ได้ตามเกณฑ์ของหน่วยงาน สามารถดำรงตำแหน่งได้สูงสุดถึงระดับ C11 ส่วนสายสนับสนุนในสายบริหาร (ธุรการ) สามารถก้าวหน้าถึง C8 ส่วนสายวิชาชีพ (นักเทคนิคการแพทย์, นักวิทยาศาสตร์) สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ก้าวหน้าได้ถึง C9
ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีการกำหนดแผนงานด้านอัตรากำลัง ทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการวางแผน ตามกฎระเบียบของหน่วยงานต้นสังกัด มีแนวทางการแสวงหาคณาจารย์รุ่นใหม่ ทั้งจากนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในต่างประเทศ

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรมและโปร่งใสโดยใช้หลักการของ performance based pay โดยมีแบบประเมินที่มีคุณภาพ และประเมินในรูปคณะกรรมการ ตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานต้นสังกัด

5. การบริหารงบประมาณและการเงิน

ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้จัดการบริหารงบประมาณและการเงิน โดยให้มีการระดมทรัพยากรการเงินจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาควิชา ตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ประเมินผลการใช้งบประมาณ และตรวจสอบการเงินและงบประมาณอย่างเป็นระบบ

5.1 แหล่งเงินงบประมาณ

5.1.1 เงินงบประมาณแผ่นดินประจำปี ตามที่ได้รับจัดสรรจากคณะแพทยศาสตร์

5.1.2 เงินนอกงบประมาณแผ่นดิน ได้แก่ เงินกองทุนของสาขาวิชา ภาควิชา ซึ่งฝากไว้ ณ คณะแพทยศาสตร์

5.1.3 เงินบริจาค ได้แก่

  • เงินบริจาค โดยผู้บริจาคมีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะกิจ
  • เงินบริจาค โดยผู้บริจาคมิได้ระบุวัตถุประสงค์ แต่เพื่อให้ใช้สนับสนุนงานด้านบริหาร บริการ วิจัย ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารเงินทุน นั้นๆ

5.1.4 เงินทุนสนับสนุนจากภายนอก ได้จากภาคเอกชนเพื่อใช้ในการทำงานวิจัย

5.2 การจัดสรร การวิเคราะห์ และการตรวจสอบ

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีระบบการจัดสรร การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย การตรวจสอบการเงินและงบประมาณ เป็นไปตามข้อกำหนดของแหล่งเงินทุนนั้น ๆ

6. การตรวจติดตาม การป้องกันและการรับมือ

ภาควิชาอายุรศาสตร์ มีขั้นตอนและการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไข/ปรับปรุง และเฝ้าระวัง เป็นไปตามแนวปฏิบัติของคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีคู่มือขั้นตอนปฏิบัติงาน เรื่อง การแก้ไข/ปรับปรุงและการเฝ้าระวัง  ของคณะกรรมการความเสี่ยงด้านการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โดยภาควิชา ได้มอบหมายให้มีกลุ่มบุคคลผู้ทำหน้าที่ดูแลงานด้านความเสี่ยงด้านการศึกษาระดับภาควิชา ได้แก่ ประธานการศึกษาระดับปริญญา ประธานการศึกษาระดับหลังปริญญา ประธานบัณฑิตศึกษา เป็นผู้จัดการด้านความเสี่ยงด้านการศึกษาในระดับต่างๆ มีเจ้าหน้าที่ธุรการภาควิชา เป็นผู้ประสานงาน เพื่อให้รับรู้ปัญหาด้านคุณภาพ ทำการปรับปรุง/แก้ไข เฝ้าระวังปัญหา รวมถึงจัดส่งรายงานปัญหาที่พบ ไปยังคณะกรรมการความเสี่ยงด้านการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ สำหรับความเสี่ยงเกี่ยวกับเวชปฏิบัติและจริยธรรมทางการแพทย์ รองหัวหน้าภาควิชาฝ่ายบริการและประธานกรรมการประสานงานการดูแลผู้ป่วยอายุรกรรมของภาควิชาเป็นผู้รับหน้าที่กำกับดูแล

Quick Links

Copyrights © 2019 CUMEDICINE. All rights reserved.